อันดามันเหนือ หมู่เกาะสิมิลัน หมู่เกาะสุรินทร์

เส้นทางอันดามันตอนเหนือเป็นเส้นทางที่ครอบคลุมหมู่เกาะนอกฝั่งตอนบนของทะเลอันดามัน ประกอบด้วยหมู่เกาะสิมิลันและหมู่เกาะสุรินทร์ ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งจังหวัดพังงาไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 50กิโลเมตรบนขอบไหล่ทวีปของแอ่งอันดามัน 

ที่มาของภาพ: www.similan-island.com

หมู่เกาะนอกชายฝั่งในเขตตอนเหนือสุดในทะเลอันดามันของประเทศไทยเป็นแนวต่อเนื่องกับส่วนตอนใต้ของหมู่เกาะมะริดซึ่งเป็นแนวของกลุ่มเกาะเขาหินแกรนิตที่ต่อเนื่องมาจากเทือกเขาสูงซึ่งเป็นเขตแดนทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือระหว่างประเทศไทยและสหภาพเมียนมาร์ออกไปถึงไหล่ทวีปของทะเลอันดามัน พื้นที่ใต้ทะเลบริเวณนี้มีลักษณะการหมุนเวียนของมวลน้ำในทิศทางตามเข็มนาฬิกาจากบริเวณเหนือเกาะภูเก็ตโดยได้รับอิทธิพลจากมวลน้ำที่ดันผ่านเข้ามาทางช่องแคบมะละกาตามฤดูกาล ทำให้เกิดการผสมผสานกันอย่างสลับซับซ้อนของสิ่งมีชีวิต

ที่มาภาพ: www.loma-diving.com

เนื่องจากการผสมผสานกันจากอิทธิพลของสองมหาสมุทรนี้ หมู่เกาะสุรินทร์และหมู่เกาะสิมิลันจึงมีแนวปะการังที่มีความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย และมีความหลากหลายของปลาทะเลสูง ทะเลบริเวณหมู่เกาะเหล่นี้ เป็นที่อยู่อาศัยของปลาทะเลมากกว่า 700 ชนิด สัตว์ในกลุ่มกุ้งปูอย่างน้อย 140 ชนิด และปะการังแข็ง 160 ชนิด นอกจากนั้นยังสามารถพบสัตว์ทะเลขนาดใหญ่ในบริเวณท้องทะเลระหว่างเกาะต่างๆ ได้เป็นประจำ ได้แก่ ฉลามวาพกระเบนราหู วาฬ และโลมาหลากหลายชนิด

 

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน

หมู่เกาะสิมิลันอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันจังหวัดพังงา จัดว่ามีสภาพธรรมชาติสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วยหมู่เกาะ 9 เกาะเรียงตัวจากทิศเหนือลงทิศใต้ ได้แก่เกาะบางูเกาะสิมิลัน เกาะปายู เกาะหก เกาะห้า เกาะเมียง เกาะปาหยัน เกาะปายัง และเกาะหูยง โดยมีเกาะตาชัย และเกาะบอนเป็นเกาะที่ห่างมาจากกลุ่มค่อนข้างไกล

นอกจากนี้หม่เกาะสิมิลันยังมีกองหินใต้น้ำและแนวโขดหินตามหัวเกาะหลายแห่งที่มีความสำคัญต่อการดำน้ำท่องเที่ยวเช่น กองหินแฟนตาซี ซึ่งเป็นกองหินใต้น้ำสองกอง ห่างออกไปทางด้านตะวันตกของอ่าวหินเรือใบของเกาะสิมิลันเพียงเล็กน้อย (ปัจจุบันไม่อนุญาตให้ประกอบกิจกรรมดำน้ำ) หินหัวกะโหลก (หินปูซา) หินสันฉลาม (หินแพ)

เกาะบางู 

เกาะบางูหรือเกาะเก้าเป็นเกาะที่อยู่เหนือสุดของกลุ่มเกาะสิมิลัน ไม่มีหาดทรายขนาดใหญ่แต่มีลักาณะของกองหินใต้น้ำที่โด่ดเด่นและมีจุดดำน้ำที่สำคัญจำนวนมาก บริเวณรอบๆเกาะมีแนวปะการังก่อตัวได้ดีถึงรระดับความลึก 11-18 เมตร 

เกาะสิมิลัน

เกาะสิมิลัน (เกาะแปด) เป็นเกาะใหญ่ที่สุดของหมู่เกาะสิมิลัน มีอ่าวใหญ่คล้ายเกือกม้าเรียกว่าอ่าวเกือกและมีหินขนาดใหญ่ลักษณะคล้ายเรือใบตั้งเด่นอยู่ริมฝั่งจนเป็นสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของหมู่เกาะสิมิลัน เกาะนี้มีที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน และศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอยู่บริเวณอ่าวเกือก

เกาะสิมิลันนี้มีแนวปะการังก่อตัวตลอดฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือ ทางชายฝั่งทิศตะวันออกมีแนวปะการังก่อตัวได้หนาแน่นและกว้างมาก จัดเป็นแนวปะการังน้ำลึกที่มีพัฒนาการที่สมบรูณ์แห่งหนึ่งนอกเหนือจากเกาะสุรินทร์

เรือที่พาเราไปดำน้ำส่วนมากจะไปจอดที่หน้าเกาะแปด เพื่อให้เราได้ขึ้นเกาะไปถ่ายรูปสวยๆ กับหินเรือใบ ในช่วงก่อนพระอาทิตย์ตก และเป็นช่วงเวลาที่นักท่องเที่ยวภาคกลางวันกลับเข้าฝั่งแล้ว บนเกาะจึงมีแต่พวกเรา นักดำน้ำที่มากับเรือสกูบ้าค่ะ

หินเรือใบเมื่อมองจากทะเล

วิวที่มองลงมาจากหินเรือใบ

 

เกาะปาย

เกาะปาย (เกาะหก หรือเกาะจ็ด) แต่เดิมถูกเรียกว่าเกาะหกแต่ปัจจุบันนับเป็นเกาะลูกที่เจ็ดของกลุ่มเกาะสิมิลัน รอบเกาะไม่มีหาดทรายขนาดใหญ่ ลักษณะชายฝั่งเป็นโตรกหินชัน แนวปะการังก่อตัวได้หนาแน่นทางชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ ปะการังมีการกระจายตัวบนพื้นทรายถึงที่ระดับความลึกสูงสุดประมาณ 18 เมตรตลอดชายฝั่ง ด้านตะวันตกเป็นแนวโขดหินที่มีปะการังขึ้นหนาแน่น มีจุดดำน้ำอยู่รอบเกาะโดยเฉพาะทางด้านตะวันตกจะเต็มไปด้วยปะการังก้อนขนาดใหญ่ ปะการังอ่อนและกัลปังหาอยู่มาก

 

เกาะห้าและเกาะหก

เกาะห้า และเกาะหกเป็นเกาะเล็กๆสองเกาะที่อยู่ใกล้กัน มีแนวปะการังล้อมรอบ บางส่วนเป็นปะการังที่ก่อตัวเป็นกลุ่มบนพื้นทรายเช่นบริเวณชายฝั่งด้านที่เป็นร่องน้ำขนานกับเกาะเมียง ทางตอนเหนือของเกาะหกมีแนวปะการังก่อตัวได้ค่อนข้างหนาแน่น จุดดำน้ำลึกเด่นอยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้เรียกว่าบริเวณหินม้วนเดียว ซึ่งเป็นก้อนหินขนาดใหญ่มีปะการังอ่อนและกัลปังหากระจายหนาแน่น บนพื้นทรายมีปลาไหลสวนอาศัยอยู่จำนวนมาก บริเวณด้านทิศตะวันตก และทิศใต้ของเกาะห้ามีจุดดำน้ำพิเศษที่สร้างขึ้นเพื่อลดผลกระทบจากการใช้ประโยชน์คือ เรือจม Tuna wreck และประติมากรรมใต้น้ำ 12นักษัตร 

 ความสวยงามใต้น้ำที่เกาะห้า

เกาะเมียง

เกาะเมียงหรือเกาะสี่เป็นเกาะที่เป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติและศูนย์บริการนักท่องเที่ยว มีที่พัก

รับรองบนเกาะ ตัวเกาะมีหาดทรายอยู่ 2 ด้าน คือหาดเล็กและหาดหน้าอุทยาน แนวปะการังรอบเกาะก่อตัวได้เฉพาะทางฝั่งทิศเหนือและทิศตะวันออกตั้งแต่กลางอ่าวทางทิศเหนือของเกาะลงมาจนถึงอ่าวเล็กทางฝั่งตะวันออกมีปะการังก่อตัวเป็นกลุ่มบนพื้นทรายจนถึงระดับลึกสุด 12-23 เมตร ทางตอนใต้ของฝั่งตะวันออกมีปะการังหนาแน่นขึ้นจนถึงระดับลึกประมาณ 15 เมตร ปีกอ่าวทางตอนเหนือของเกาะมีปะการังค่อนข้างหนาแน่นจนถึงความลึกประมาณ 27 เมตร

เกาะปาหยัน เกาะปายัง และเกาะหูยง

ทั้งนี้ เกาะปาหยัน (กาะสาม) เกาะปายัง (เกาะสอง) และเกาะหูยง (เกาะหนึ่ง) เป็นเขตพื้นที่ที่ไม่อนุญาตให้ประกอบกิจกรรมดำน้ำและเป็นพื้นที่สงวนรักษาไว้เพื่อการวางไข่ของเต่าทะเล

หินปูชา

หินปูซาหรือหินหัวช้างหรือหินกะโหลก เป็นกองหินขนาดใหญ่ที่สุดของหมู่เกาะสิมิลัน ตั้งอยู่1.5 กิโลเมตรทางใต้ของเกาะสิมิลัน และมีหินขนาดใหญ่โผล่พ้นผิวน้ำ 3 ก้อน ก้อนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตก บริเวณโดยรอบหินใหญ่มีกองหินกองรวมกันวางตัวเป็นกำแพงซึ่งถูกปกคลุมด้วยกัลปังหาและปะการังอ่อนสีสันต่างๆ

บริเวณนี้เป็นกองหินใต้น้ำที่ความลึก 12-37 เมตร มีพื้นทรายมีความลึกอยู่ที่ 35-40 เมตร เป็นที่ชื่นชอบของนักถ่ายภาพใต้น้ำเพราะมีหลายมุมสวยงาม เช่น ผนังหินที่มีช่องว่างให้ยื่นหน้าออกช่องแคบระหว่างผนังหินที่เต็มไปด้วยปะการังอ่อน กัลปังหา ดอกไม้ทะเล ฝูงปลาหลากชนิด

เกาะบอน

เกาะบอน เป็นเกาะขนาดเล็กตั้งอยู่ทางเหนือของเกาะบางูของหมู่เกาะสิมิลัน มีแนวปะการังก่อตัวบนพื้นที่ระดับความลึกประมาณ 8-10 เมตรรอบเกาะโดยมีบางส่วนเป็นปะการังที่ขึ้นบนแนวโขดหิน บริเวณแหลมด้านตะวันตกเป็นแนวโขดหินชันลงสู่ที่ลึกกว่า 40 เมตร และจัดเป็นจุดดำน้ำที่ดีที่สุดในบริเวณเกาะบอน

(ที่มาเนื้อหา: สำนักเศรษฐกิจการท่องเที่ยว และกีฬา และกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา)

 

 

หมู่เกาะสุรินทร์

หมู่เกาะสุรินทร์อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ประกอบไปด้วยเกาะสุริทร์เหนือ เกาะสุรินทร์ใต้ เกาะชี (เกาะสต็อก) เกาะกลาง (เกาะปาจุมบา) และเกาะไข่ (เกาะตอรินลา)

หมู่เกาะสุรินทร์อยู่ห่างจากฝั่ง 60 กิโลเมตร ตั้งอยู่ในทะเลอันดามันทางตะวันตกสุดของประเทศ ติดกับเขตชายแดนไทย-พม่า จึงได้รับอิทธิพลต่างๆ จากชายฝั่งไม่มากนัก บริเวณรอบเกาะเป็นเขตน้ำลึกมากกว่า 50เมตร มีแหล่งปะการังที่งดงามริมเกาะเหมาะแก่การดำนํ้าลึกหมู่เกาะสุรินทร์มีกองหินใต้น้ำที่มีทัศนียภาพสวยงามและเป็นหนึ่งในจุดดำน้ำยอดนิยมของประเทศไทยได้แก่ กองหินริเชลิว จุดดำน้ำนี้มีสัญลักษณ์คือ ยอดของหินซึ่งตั้งโผล่เหนือน้ำที่ความสูงประมาณ 1 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลเมื่อน้ำลง และหายไประหว่างช่วงที่น้ำขึ้น บริเวณนี้เป็นจุดที่พบฉลามวาพได้บ่อยที่สุดแห่งหนึ่งในโลก โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม และมีฝูงปลาจำนวนมาก เช่น ปลาสากปลาม เป็นต้น นอกจกนี้ยังเป็นแหล่งวางไข่ของหมึกกระดอง รวมทั้งยังเป็นแหล่งที่มีปะการังอ่อน กัลปังหาและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่นๆ หลากหลายชนิด

(ที่มาเนื้อหา: สำนักเศรษฐกิจการท่องเที่ยว และกีฬา และกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา)